การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการวัดและประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน ของโรงเรียน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดกรุงเทพมหานคร: การวิเคราะห์ผลกระทบไขว้

  • สุรี เขียวตื้ออินทร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
  • ภิรดี วัชรสินธุ์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
คำสำคัญ: การวัดและประเมินการอ่าน, คิดวิเคราะห์ และเขียน, การวิเคราะห์ผลกระทบไขว้

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สำรวจสภาพและปัญหาในการวัดและประเมิน การอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน ของโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดกรุงเทพมหานคร 2) ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการวัดและประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนของโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดกรุงเทพมหานคร โดยใช้การวิเคราะห์ผลกระทบไขว้  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเชิงสำรวจ คือ ครูสังกัดกรุงเทพมหานครซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบแบ่งชั้น จำนวนทั้งสิ้น 450 คน   

เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลสภาพและปัญหาในการวัดและประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน เครื่องมือวิจัยได้แก่    แบบสอบถามที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพด้านความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา มีค่า IOC อยู่ระหว่าง 0.60 -1.00 และมีความเชื่อมั่นอยู่ระหว่าง 0.970 - 0.983 กลุ่มผู้ให้ข้อมูลในการวิเคราะห์ผลกระทบไขว้ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา   สังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาที่มี ประสบการณ์ด้านการวัดและประเมินผลในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและมีความเชี่ยวชาญด้านการวัดและประเมินทาง การศึกษาซึ่งได้จากการเลือกแบบเจาะจง จำนวน 10 คน การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติบรรยาย ได้แก่ ร้อยละ  ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนข้อมูลปัจจัยที่ส่งผลระหว่างกันใช้การวิเคราะห์ผลกระทบไขว้ตามแนวทางของ Gordon, T.J. (1994) ผลการวิจัยพบว่า สภาพการดำเนินงานในการวัดและประเมิน การอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียนของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ในภาพรวม สถานศึกษามีการปฏิบัติด้านการวัดและประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.35 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.50 ผลการสำรวจปัญหาด้านการวัดและประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนของโรงเรียน พบว่าในภาพรวมมีปัญหาในระดับน้อย โดยมีค่าเฉลี่ย 1.30 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 1.03
ผลการวิเคราะห์ผลกระทบไขว้ปัจจัยที่ส่งผลต่อการวัดประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน พบว่าเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อกันมากที่สุด คือ การที่ครูทราบถึงหลักการและเข้าใจแนวปฏิบัติในการวัดและประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนตามที่ระบุในหลักสูตรแกนกลางฯ ส่งผลกระทบมากที่สุดต่อการใช้เทคนิควิธีที่หลากหลายในการวัดและประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน รองลงมาได้แก่การที่ผู้บริหารกำหนดนโยบายด้านการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนที่ชัดเจน ส่งผลกระทบต่อการที่ผู้บริหารให้การสนับสนุนเครื่องมือ งบประมาณองค์ความรู้เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานการวัดและประเมินการอ่านคิดวิเคราะห์และเขียน

เผยแพร่
28-03-2024