ความขัดแย้งทางปัญญาและโครงการปรับปรุงคุณวุฒิวิชาชีพครู พ.ศ. 2560 กรณีศึกษาหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต มศว.

  • วรรธนะ สุขศิริปกรณ์ชัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
คำสำคัญ: ความขัดแย้งทางปัญญา, การสอนภาษาอังกฤษ, หลักสูตรการศึกษา, การศึกษาครู

บทคัดย่อ

การศึกษาวิชาชีพครูเป็นปัจจัยสำคัญของระบบการศึกษาแต่ทิศทางการพัฒนาความรู้และทักษะของครูไทยในปัจจุบันเกิดการลดหย่อนคุณภาพลงไปมาก งานวิจัยนี้เป็นวิจัยเชิงประยุกต์ ศึกษาความขัดแย้งทางปัญญาของนิสิตและอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรการศึกษาบัณฑิตสาขาวิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เกี่ยวกับโครงการปรับปรุงคุณวุฒิวิชาชีพครูปี พ.ศ. 2560 ซึ่งลดระยะเวลาของหลักสูตรการศึกษาบัณฑิตจากเดิม 5 ปี เป็น 4 ปี กลุ่มตัวอย่างคือนิสิตหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษ 62 คน ได้มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้คือแบบสอบถามเกี่ยวกับความขัดแย้งทางปัญญาที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน ประกอบกับการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง ผลการวิจัยแสดงด้วยสถิติเชิญพรรณนาให้เห็นว่า ทั้งนิสิตเกิดความขัดแย้งทางปัญญาในด้านต่างๆ ของโครงการปรับปรุงคุณวุฒิวิชาชีพครู พ.ศ. 2560 คือ 45.2% รู้สึกไม่มั่นคงเกี่ยวกับงานในอนาคต 30.6% เสื่อมศรัทธาในประโยชน์ของหลักสูตรปัจจุบันที่ตนศึกษา 74.2% เรียกร้องให้ต่อต้านโครงการปรับคุณวุฒิ 77.4% ต้องการความคุ้มครองจากโครงการใหม่ และ 56.5% คิดว่าโครงการใหม่ไม่มีความยุติธรรม ผลการสัมภาษณ์อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรชี้ให้เห็นถึงความไม่มั่นคงเรื่องโอกาสการแข่งขันของการทำงานในอนาคตและความเชื่อมั่นของนิสิตคงค้างของหลักสูตร 5 ปี

เผยแพร่
17-04-2024
ประเภท
บทความวิจัย