วิเคราะห์ความก้าวหน้าในการศึกษานโยบายสาธารณะแนวสหสาขาวิชาด้วยวิธีวิเคราะห์อภิมาน

  • ธนวัฒน์ พิมลจินดา
  • สุณี หงษ์วิเศษ มหาวิทยาลัยบูรพา
คำสำคัญ: นโยบายสาธารณะ สหสาขาวิชา การวิเคราะห์นโยบายในเชิงสหสาขาวิชา การตัดสินใจ

บทคัดย่อ

 บทความนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความก้าวหน้าของการศึกษานโยบายสาธารณะในเชิงสหสาขาวิชา โดยอาศัยการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) จากบทความที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ ที่เผยแพร่ในวารสารระดับเทียร์ 1 และเทียร์ 2 ที่ปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ถึงปี พ.ศ. 2559 โดยใช้กระบวนการคัดกรองตามเงื่อนไขที่กำหนด จนเหลือ 45 เรื่อง จากทั้งหมด 3,228 เรื่อง ผลการวิเคราะห์ พบว่า การศึกษานโยบายสาธารณะเป็นหัวข้อที่ปรากฏอยู่ในสาขาวิชาต่างๆ ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ทว่าเมื่อพิจารณาในเชิงสหสาขาวิชาแล้ว พบว่า การศึกษานโยบายสาธารณะในกลุ่มนักรัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งถือเป็นวิชาสำคัญ กลับมีความเป็นสหสาขาวิชาน้อยกว่า การศึกษานโยบายโดยกลุ่มนักวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์กายภาพและชีววิทยา การศึกษานโยบายสาธารณะของกลุ่มนักรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ยังคงมุ่งเน้นการทดสอบและพัฒนาทฤษฎีโดยอาศัยกรณีศึกษา มากกว่าที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาแนวทางหรือระเบียบวิธีในการบูรณาการศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษานโยบาย อุปสรรคต่อการพัฒนาความเป็นสหสาขาวิชาที่เห็นได้ชัดเจน คือ พื้นฐานความรู้และประสบการณ์ของนักวิชาการที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม ซึ่งหมายรวมถึงแนวทางการศึกษาและระเบียบวิธีวิจัยที่มีความแตกต่างกัน และการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างนักวิชาการต่างสาขาวิชาที่ยังจำกัด ด้วยความต่างเหล่านี้ การพัฒนาความเป็นสหสาขาวิชาในการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ จึงไม่ควรกำหนดรูปแบบที่มีขอบเขตตายตัว หรือกำหนดขอบเขตองค์ความรู้เฉพาะในทางรัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่การนำจุดเด่นของแต่ละสาขาวิชามาประยุกต์ในแต่ละสถานการณ์ที่มีตัวแปรแตกต่างกัน จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์ความรู้ในการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มนักรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์

เผยแพร่
16-04-2024