รูปแบบการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ในเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก กรณีศึกษา ชุมชนปากน้ำประแส จังหวัดระยอง
กรณีศึกษา ชุมชนปากน้ำประแส จังหวัดระยอง
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชุมชนปากน้ำประแส จังหวัดระยอง 2) เพื่อศึกษาปัจจัยความสำเร็จด้านการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของชุมชนปากน้ำประแส จังหวัดระยอง และ 3) เพื่อเสนอรูปแบบการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในเขตพัฒนาพิเศษตะวันออกที่เหมาะสมกับชุมชนปากน้ำประแส จังหวัดระยอง
การดำเนินการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงผสานวิธี ระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงปริมาณ โดยการศึกษาสภาพปัจจุบันและปัจจัยด้านการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ใช้วิธีการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์บุคคลที่มีประสบการณ์และองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของชุมชนปากน้ำประแส จำนวน 10 คน โดยมีเครื่องมือในการเก็บข้อมูล คือ แนวคำถามในการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหาและความสัมพันธ์ของข้อมูลเพื่อสรุปและตีความ รวมทั้งใช้แบบสอบถามประชากรชุมชนปากน้ำประแส จำนวน 371 คนในการวิเคราะห์ใช้ข้อมูลเชิงสถิติ ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยด้านการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ของชุมชนปากน้ำประแส จังหวัดระยอง ประกอบด้วย 1) แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม 2) กระบวนการด้านสิ่งแวดล้อม 3) การมีส่วนร่วม 4) การส่งเสริมการตลาด 5) กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 6) การบริการท่องเที่ยว 7) การให้ความรู้และสร้างจิตสำนึก และ 8) องค์กรการจัดการ ในส่วนของรูปแบบการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในเขตพัฒนาพิเศษตะวันออกที่เหมาะสมกับชุมชนปากน้ำประแส จังหวัดระยอง นั้น ควรมีการวางแผน ขับเคลื่อน และบูรณาการร่วมกันในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค ในขอบเขตของการจัดการที่เป็นปัจจัยทั้ง 8 ด้าน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ซึ่งประกอบด้วยองค์กรในการจัดการ องค์กรสนับสนุน และหน่วยงานที่ขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยมีการกำหนดเป้าหมาย เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนปากน้ำประแส ที่มุ่งเน้นให้ชุมชนปากน้ำประแส มีศักยภาพและมีทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยในการวางแผนเพื่อการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จำเป็นต้องคำนึงถึงการสร้างวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ การใช้ทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ภายใต้บริบทที่เหมาะสมกับชุมชนปากน้ำประแส เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชุมชนปากน้ำประแส