การศึกษาพฤติกรรมการใช้สื่อ และการรู้เท่าทันสื่อของผู้ปกครองนักเรียน ระดับประถมศึกษาตอนปลาย ในกรุงเทพมหานคร

  • ปิยนุช ศรีสวัสดิ์เล็ก สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
  • นนทสรวง กลีบผึ้ง มหาวิทยาลัยมหิดล
คำสำคัญ: คำสำคัญ: ผู้ปกครอง / พฤติกรรมการใช้สื่อ / ความรู้ความเข้าใจการใช้สื่อ / การรู้เท่าทันสือ

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

          การวิจัยชิ้นนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้สื่อ ระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสื่อ  และระดับการรู้เท่าทันสื่อของผู้ปกครองนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลายในกรุงเทพมหานคร  จากโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 6 กลุ่มเขตพื้นที่จำนวน 366 คน รูปแบบการวิจัยในการศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประยุกต์ข้อคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้สื่อจากงานวิจัยของอนงค์นาฏ  รัศมีเวียงชัย (อนงค์นาฏ,2551)  ประยุกต์ข้อคำถามเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจจากงานวิจัยของสุขใจ  ประเทืองสุขเลิศ(สุขใจ,2549)และประยุกต์ข้อคำถามเกี่ยวกับระดับการรู้เท่าทันสื่อจากงานวิจัยของปกรณ์ ประจันบาน (ปกรณ์,2558)  ข้อมูลสถิติเชิงพรรณนา ( Descriptive Statistics) แสดงผลในรูปแบบตารางแจกแจงความถี่( Frequency ) ค่าร้อยละ (Percentage )ค่าเฉลี่ย ( Mean )  และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviatio) ผลการศึกษาพบว่า  กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 36-45 ปี มีแนวโน้มพฤติกรรมการเปิดรับข้อมูลข่าวสารโดยผ่านสื่อดั้งเดิม ได้แก่ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ  และนิตยสาร ตามลำดับ และมีการเปิดรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ ได้แก่  ไลน์  เฟสบุ๊ก อินสตาแกรม  เว็บไซต์ ตามลำดับ ช่วงเวลาที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ใช้สื่อประเภท โทรทัศน์  เว็บไซต์  อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก และไลน์ คือช่วงเวลา18.00 – 21.00 น. ใช้วิทยุ หนังสือพิมพ์มากที่สุด คือช่วงเวลา6.00 – 9.00 น. และใช้สื่อประเภท ไลน์มากที่สุดคือช่วงเวลา 12.00 – 15.00 น. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะสนใจข้อมูลประเภทข่าวสารมากกว่าข้อมูลประเภทอื่นๆ และเผยแพร่ข้อมูลของตนเองผ่านสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีค่าเฉลี่ยทักษะการเข้าถึงสื่ออยู่ในระดับสูง แต่ค่าเฉลี่ยความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสื่อในเรื่อง ผลกระทบของสื่อ เนื้อหาของสื่อ อุตสาหกรรมสื่อ และการแยกแยะความแตกต่างของโลกสื่อกับโลกในชีวิตจริงนั้นอยู่ในระดับปานกลาง โดยเฉพาะในส่วนการแยกแยะความแตกต่างของโลกสื่อกับโลกในชีวิตจริงนั้นมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.63 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำ  งานวิจัยชิ้นนี้จึงมีข้อเสนอแนะว่า ควรมีการลงพื้นที่เพื่อวางแผนทั้งในเชิงอบรมให้ความรู้  ปฏิบัติจริงและประเมินผลเป็นระยะ ในสถานการณ์จริงตามสภาพแวดล้อม กลุ่มอาชีพและศักยภาพของผู้ปกครอง มีการเพิ่มกลุ่มเป้าหมายในวัยต่างๆรวมไปถึงบุคคลที่มีความต้องการพิเศษประเภทต่างๆ โดยมีแนวทางการส่งเสริมระดับการรู้เท่าทันสื่อให้กับผู้บริโภคสื่อที่เหมาะสมกับระดับพัฒนาการ และศักยภาพร่วมด้วยเพื่อเป้าหมายคือการรู้เท่าทันสื่อของทุกคน

คำสำคัญ: ผู้ปกครอง / พฤติกรรมการใช้สื่อ / ความรู้ความเข้าใจการใช้สื่อ / การรู้เท่าทันสือ

เผยแพร่
29-03-2024