ความผูกพันของพนักงานที่มีต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานขององค์กร ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วน

  • หนึ่ง กรงทอง เอมอร ตระกูลสัมพันธ์ และพรทิพย์ ชุ่มเมืองปัก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
คำสำคัญ: ความผูกพันต่อองค์กร, พนักงาน, ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน, ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วน

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

            การค้นคว้าอิสระครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความผูกพันของพนักงานที่มีต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานขององค์กรในภาคอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วน จำแนกตามปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ ปัจจัยด้านการปฏิบัติงาน ปัจจัยด้านองค์กร ความผูกพัน และประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ พนักงานองค์กรในภาคอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วน จำนวน 505 คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทำการทดสอบสมมติฐาน Independent Samples (t-test) สำหรับตัวแปร 2 กลุ่ม ใช้สถิติ One-Way ANOVA (F-test) ในการทดสอบสมมติฐานสำหรับตัวแปรมากกว่า 2 กลุ่ม ใช้วิธีเปรียบเทียบรายคู่โดยวิธีของเชฟเฟ่และใช้การวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างของการวิจัย เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง มีอายุระหว่าง 21-30 ปี ส่วนใหญ่สังกัดฝ่ายสำนักงาน จบการศึกษาระดับปริญญาตรี มีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ยที่ 20,000-30,000 บาท ระยะเวลาการปฏิบัติงาน 1-5 ปี และพนักงานมีความผูกพันต่อองค์กรอยู่ในระดับมาก

ผลการวิเคราะห์ ปัจจัยด้านการปฏิบัติงานที่ส่งผลต่อความผูกพัน ได้แก่ ความก้าวหน้า และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ปัจจัยด้านองค์กรที่ส่งผลต่อความผูกพัน ได้แก่ การมีส่วนร่วมในการบริหารงาน เงินเดือนและสวัสดิการ การได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถ และสภาพแวดล้อมองค์กร ส่วนปัจจัยด้านการปฏิบัติงานที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ได้แก่ ความก้าวหน้า ปัจจัยด้านองค์กรที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ได้แก่ การมีส่วนร่วมในการบริหารงาน ความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงาน เงินเดือนและสวัสดิการ ปัจจัยด้านความผูกพันที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ได้แก่ การทุ่มเทความพยายามในการปฏิบัติงาน และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร

เผยแพร่
28-03-2024