การพัฒนาทักษะทางสังคมโดยใช้กิจกรรมนันทนาการสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาระดับเตรียมความพร้อม ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสิงห์บุรี

  • ปาริฉัตร พลับพลาทอง และจรรยา ชื่นเกษม ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสิงห์บุรี
คำสำคัญ: การพัฒนาทักษะทางสังคม, เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา, กิจกรรมนันทนาการ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการพัฒนาทักษะทางสังคมของเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาระดับเตรียมความพร้อม ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสิงห์บุรี โดยใช้กิจกรรมนันทนาการ และเปรียบเทียบการพัฒนาทักษะทางสังคมของเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาระดับเตรียมความพร้อม ก่อนเรียนและหลังเรียนที่ใช้กิจกรรมนันทนาการ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ที่มีอายุพัฒนาการ 2-4 ปี ของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสิงห์บุรี ประจำปีการศึกษา 2561 ภาคเรียนที่ 2 จำนวน 5 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง ที่มีปัญหาทักษะทางสังคมและสามารถเข้าร่วมการวิจัยเต็มเวลา เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ แผนการจัดกิจกรรมนันทนาการ จำนวน 9 แผน และแบบประเมินความสามารถทักษะทางสังคมก่อนเรียน-หลังเรียน ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น แล้วนำคะแนนที่ได้จากการประเมินทำการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติโดยใช้สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและวิธีทดสอบวิลคอกซัน (Wilcoxon Matched-Pairs Signed-Ranks Test)

ผลการวิจัยพบว่า

  1. ความสามารถทักษะทางสังคมของเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาระดับเตรียมความพร้อมโดยใช้

กิจกรรมนันทนาการ หลังการพัฒนาโดยใช้กิจกรรมนันทนาการ ในภาพรวมอยู่ในระดับดีมาก ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการมีปฏิสัมพันธ์ ด้านการเล่น และด้านการปฏิบัติตนในสังคม ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าสมมติฐานที่ตั้งไว้ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ทั้ง 3 ด้าน พบว่า 1. ด้านการมีปฏิสัมพันธ์  แบ่งออกเป็น 3 รายทักษะย่อย ดังนี้ การตอบสนองต่อเสียง การสบตา และการทักทาย หลังการพัฒนาโดยใช้กิจกรรมนันทนาการ อยู่ในระดับดีมาก ตามลำดับ                2. ด้านการเล่น แบ่งออกเป็น 3 รายทักษะย่อย ดังนี้ การปฏิบัติตามคำสั่งง่ายๆ การเล่นอิสระอยู่ในกลุ่ม และการเล่นตามกฎกติกา หลังการพัฒนาโดยใช้กิจกรรมนันทนาการ อยู่ในระดับดีมาก ตามลำดับ และ 3. ด้านการปฏิบัติตนในสังคม แบ่งออกเป็น 3 รายทักษะย่อย ดังนี้ การขอ การให้ และการรอคอย หลังการพัฒนาโดยใช้กิจกรรมนันทนาการ ทักษะย่อยการขอและทักษะย่อยการรอคอยอยู่ในระดับดีมาก ตามลำดับ และทักษะย่อยการให้อยู่ในระดับดี

  1. เปรียบเทียบการพัฒนาทักษะทางสังคมของเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาระดับเตรียมความพร้อม ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสิงห์บุรี ก่อนและหลังเรียนโดยใช้กิจกรรมนันทนาการ ด้วยการวิเคราะห์ Wilcoxon Signed Ranks Test พบว่า ความสามารถทักษะทางสังคมของเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาระดับเตรียมความพร้อมหลังเรียนโดยใช้กิจกรรมนันทนาการ ในภาพรวม สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (p-value = .042) เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
เผยแพร่
29-03-2024