มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง

  • สรายุธ รื่นรมย์ เพ็ญศรี พัทธ์วิวัฒนศิริ และชาติชาย มหาคีตะ กรมราชทัณฑ์
คำสำคัญ: ระบบการพัฒนาพฤตินิสัย ผู้ต้องขัง ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

            การศึกษาวิจัยเรื่องมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค ในการดำเนินการด้านการแก้ไขฟื้นฟูพฤตินิสัยผู้ต้องขังวัยหนุ่ม และเพื่อให้ได้มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Methods Research) การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลสำคัญรวมทั้งสิ้น 4 กลุ่ม คือ ผู้บริหารในกรมราชทัณฑ์ รองอธิบดีที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง กลุ่มผู้บริหารทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิด้านอาชญาวิทยาและด้านทัณฑวิทยา กลุ่มนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ และการจัดสนทนากลุ่มย่อยกับผู้ต้องขังวัยหนุ่ม (อายุ 18 – 25 ปี) ทั้งที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโปรแกรม กำลังดำเนินการตามโปรแกรม และที่เคยผ่านการดำเนินการตามโปรแกรมแก้ไขฟื้นฟูมาแล้ว (Focus group) สำหรับการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง และสำนักพัฒนาพฤตินิสัย กรมราชทัณฑ์ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลกับเจ้าหน้าที่จากทุกหน่วยของประชากร แบ่งออกเป็นผู้ตอบแบบสอบถามจากทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง จำนวน 161 ราย และจากสำนักพัฒนาพฤตินิสัยส่วนกลางกรมราชทัณฑ์ จำนวน 59 ราย รวมทั้งสิ้น 220 ราย เมื่อสังเคราะห์ผลการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเพื่อได้มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง ผู้วิจัยได้นำมาจัดทำเป็น Model โดยใช้ชื่อว่า “Reformation Model” ซึ่งประกอบด้วย Reform หมายถึง การปรับปรุงผู้กระทำผิดโดยหาสาเหตุที่แท้จริง Enforcement หมายถึง การบังคับใช้นโยบายที่มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม และมีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง Formation หมายถึง การสร้างโปรแกรมการแก้ไขฟื้นฟูที่เน้นสาเหตุของการกระทำผิด Occupation หมายถึง การส่งเสริมอาชีพในช่วงเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย เน้นอาชีพอิสระและการฝึกวิชาชีพระยะสั้น Rehabilitation หมายถึง การฟื้นฟูต้องให้ครอบครัวและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขฟื้นฟู Motivation หมายถึง การสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ต้องขัง มีหลักเกณฑ์การให้รางวัลและการลงโทษที่ชัดเจนมีมาตรฐานเดียวกัน After – care หมายถึง การดูแลภายหลังปล่อย จะต้องมีการติดตามประเมินผลในทุกขั้นตอน Training Course หมายถึง การฝึกอบรมให้ความรู้ เสริมทักษะและเทคนิคเฉพาะทางให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน Infrastructure หมายถึง โครงสร้างพื้นฐานของเรือนจำต้องมีความเหมาะสมกับช่วงวัย Organization หมายถึง การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน Network หมายถึง การสร้างเครือข่ายของเจ้าหน้าที่ทัณฑสถานทุกระดับ ทุกส่วน ทุกฝ่าย

เผยแพร่
28-03-2024