รูปแบบการสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมโดยอาศัยศิลปินต้นแบบ
บทคัดย่อ
การวิจัยฉบับนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงปริมาณ มีวัตถุประสงค์ในการวิจัย ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดทฤษฎีแรงจูงใจ หลักทางพุทธจิตวิทยา และคุณลักษณะของศิลปินต้นแบบ ๒) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมเยาวชนโดยอาศัยศิลปินต้นแบบ ๓) เพื่อเสนอรูปแบบการสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมโดยอาศัยศิลปินต้นแบบ การวิจัยเชิงคุณภาพใช้การสัมภาษณ์ศิลปินต้นแบบ ๙ ท่าน และการวิจัยเชิงปริมาณใช้แบบสอบถามกลุ่มนักเรียนมัธยมปลายในจังหวัดนครสวรรค์ จำนวน ๓๘๙ ราย
ผลการวิจัย
๑. คุณลักษณะของศิลปินต้นแบบพบว่า (๑) การปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวันของศิลปิน เป็นไปตามหลักภาวนา ๔ ได้แก่ กายภาวนา สีลภาวนา จิตตภาวนา และปัญญาภาวนา (๒) การกำกับตนเองเพื่อความสำเร็จของศิลปิน เป็นไปตามหลักอิทธิบาท ๔ ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา (๓) การเผชิญปัญหาและหาทางออกจากปัญหาของศิลปินเป็นไปตามหลักอริยสัจ ๔ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (๔) สามารถเป็นแบบอย่างแก่เยาวชนเพราะมีคุณลักษณะที่โดดเด่น มีคุณค่า และน่าประทับใจ รวมทั้งไม่ซับซ้อนเพราะเป็นบุคคลสาธารณะที่สามารถตรวจสอบได้
๒. แนวทางการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมเยาวชนโดยอาศัยศิลปินต้นแบบพบว่า แนวทางที่ต้องพัฒนาเยาวชนจากมากไปหาน้อย คือ (๑) การปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวันด้านกายภาวนา โดยเฉพาะการออกกำลังกาย (๒) การกำกับตนเองเพื่อความสำเร็จด้านจิตตปัญญาและด้านอิทธิบาท ๔ โดยเฉพาะความตั้งใจ ความมุ่งมั่นและความพากเพียร (๓) การเผชิญปัญหาและหาทางออกจากปัญหาด้านปัญญาภาวนาและด้านอริยสัจ ๔ โดยเฉพาะความเข้าใจกับปัญหาหรือทุกข์
๓. รูปแบบการสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมโดยอาศัยศิลปินต้นแบบพบว่า
ต้องพัฒนาเยาวชนให้มีคุณลักษณะเหมือนศิลปินต้นแบบในด้านการปฏิบัติตัวตามหลักภาวนา ๔ กำกับตนเองเพื่อความสำเร็จตามหลักอิทธิบาท ๔ การเผชิญปัญหาและหาทางออกจากปัญหาตามหลักอริยสัจ ๔ เพื่อให้เกิดความโดดเด่น มีคุณค่า และน่าประทับใจ อันเป็นหลักทางพุทธจิตวิทยาที่เป็นรูปแบบในการพัฒนาเยาวชน โดยเน้นการพัฒนามากที่สุดตามลำดับคือด้านกายภาวนา(การออกกำลังกาย) ด้านจิตตปัญญาและอิทธิบาท๔(ความตั้งใจความมุ่งมั่น ความพากเพียร) ปัญญาภาวนาและอริยสั๔ (ความเข้าใจกับปัญหาหรือทุกข์)