ภาวะผู้ตาม : กรณีศึกษาจากปรากฏการณ์มวลมหาประชาชน
บทคัดย่อ
ในอดีตการศึกษาวิจัยในทางสังคมศาสตร์มักเน้นในเรื่องบทบาทผู้นำเป็นหลักและเป็นการศึกษาที่แยกขาดออกจากเรื่องบทบาทผู้ตาม จนต่อมาในช่วงปัจจุบันการศึกษาวิจัยมักเน้นหนักมาในด้านการศึกษาความเชื่อมโยงของผู้ตามที่มีอิทธิพลต่อผู้นำ อัตลักษณ์ผู้ตามและการทำงานเป็นทีม การวิจัยในเรื่องบทบาทผู้ตามอาจจะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่จะทำให้เริ่มมีความตระหนักว่าผู้นำอาจจะถูกแทนที่ได้เสมอด้วยการพัฒนาแบบ “Follower Outcomes” ที่ไม่ใช่แค่การพัฒนาความทักษะความเป็นผู้นำเท่านั้น ในด้านการเปลี่ยนแปลงทางทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ เริ่มมีการศึกษาบทบาทผู้ตามมากขึ้น เพื่อนำมาใช้ในการอธิบายความเป็นผู้นำและมันยังเป็นการพัฒนาทฤษฎีผู้นำไปพร้อมกันด้วย การศึกษาเรื่องผู้ตามจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ในยุคใหม่นี้ โดยเฉพาะการศึกษาเรื่อง “ผู้ตาม” หรือ “มวลชน” ที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองนั้น ล้วนมีพัฒนาการและมีการสรุปบทเรียนมากขึ้น และมวลชนหลายคนได้ผ่านการเข้าร่วมเคลื่อนไหวมาหลายครั้ง กล่าวเฉพาะมวลชนของการเคลื่อนไหว กปปส. หรือที่ถูกเรียกว่า “มวลมหาประชาชน” มวลชนเหล่านี้ได้เริ่มก่อรูปทางความคิดและเข้าร่วมเคลื่อนไหวอย่างมีเจตจำนงและแรงปรารถนาทางการเมืองมากขึ้น มันจึงมิใช่เพียงการชี้นำชักจูงจากแกนนำฝ่ายเดียวเหมือนการเคลื่อนไหวในอดีตอีกต่อไปและนั่นคือการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่ การผลักดันอุดมการณ์ทางการเมืองของการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชน ภายใต้การเติบโตอย่างมีวุฒิภาวะผู้ตาม หรือ “ภาวะผู้ตาม” จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจที่ควรพิจารณาศึกษาต่อยอดว่า สุดท้ายแล้วเราควรออกแบบหรือจัดการโครงสร้างทางสังคมการเมืองอย่างไรเพื่อทำให้เกิดดุลยภาพและสอดคล้องกับ “สำนึกพลเมือง” ที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาไปไม่รู้จบ