บรรษัทภิบาลกับธุรกิจอาคารชุดในประเทศไทย
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหาบรรษัทภิบาลของธุรกิจคอนโดมิเนียมในประเทศไทย และเพื่อศึกษารูปแบบความยั่งยืนของบรรษัทภิบาลสำหรับธุรกิจคอนโดมิเนียมในประเทศไทย ผู้วิจัยใช้แนวการวิเคราะห์ทางสังคมเศรษฐกิจ (Social Economy Approach) ประกอบด้วย แนวคิด ธรรมาภิบาล บรรษัทภิบาล และการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคม และแนวคิดเกี่ยวกับการบริโภคอย่างยั่งยืน การศึกษาวิจัยนี้ใช้เทคนิควิธีเชิงคุณภาพ คือ การสัมภาษณ์เจาะลึก (In-Depth Interview) หรือการสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้างหรือกึ่งมีโครงสร้าง (Unstructured or Semi Structure Interviews) มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์และรายงานผลการสัมภาษณ์ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย (Key Informant) ที่เกี่ยวข้อง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจคอนโดมิเนียมในเขตกรุงเทพมหานคร ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 3 บริษัท กลุ่มที่ 2 กลุ่มผู้บริโภคหรือ ผู้ซื้อ หรือผู้ที่พักอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมนั้น จำนวน 20 ราย กลุ่มที่ 3 เจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 8 ราย ผลการวิจัยพบว่า 1. สภาพปัญหาบรรษัทภิบาลของธุรกิจคอนโดมิเนียมในประเทศไทยของแต่ละบริษัทนั้น มีปัญหาด้านการบริหารจัดการ หรืออาจเป็นเพราะการบริหารอย่างไม่เป็นรูปธรรม แม้จะมีการร่วมกันคิดวิเคราะห์ออกมาเพื่อเป็นแนวทางในการใช้งาน ผู้วิจัยไม่พบว่านโยบายทั้งหมดนั้นประสบความสำเร็จอย่างจริงจัง 2. ประเทศไทยมีการพัฒนาหลากหลายรูปแบบเพื่อให้ธุรกิจคอนโดมิเนียมมีความเจริญก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด แต่อย่างไรนั้นก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะข้อค้นพบนั้นแสดงให้เห็นว่าหลังจากที่บริษัทได้ส่งมอบคอนโดมิเนียมแล้ว นโยบายการดูแลต่าง ๆ ไม่เหมือนดั่งที่ได้ทำการตลาดไว้ในช่วงแรกเปิดโครงการทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาภายหลัง