การพัฒนาชุดการเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ เรื่องทัศนศิลป์สะท้อนชีวิต สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนในเขตจอมทอง สังกัดกรุงเทพมหานคร

  • จรรยา ชอุ่มวงค์ และศันสนีย์ สังสรรค์อนันต์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราข
คำสำคัญ: ชุดการเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์, กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ, ทัศนศิลป์สะท้อนชีวิต

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.พัฒนาชุดการเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ เรื่องทัศนศิลป์สะท้อนชีวิต  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนในเขตจอมทอง สังกัดกรุงเทพมหานคร ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด  2. ศึกษาความก้าวหน้าของนักเรียนที่เรียนด้วยชุดการเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์ และ  3. ศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่เรียนด้วยชุดการเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ         นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดนางนอง (พิพัฒน์) สังกัดกรุงเทพมหานคร ที่กำลังศึกษาในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 39 คน ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1. ชุดการเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ เรื่องทัศนศิลป์สะท้อนชีวิต  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 3 หน่วย ได้แก่ หน่วยที่ 13 บทบาทของงานทัศนศิลป์ในชีวิตและสังคม หน่วยที่ 14 อิทธิพลของศาสนาที่มีต่องานทัศนศิลป์ในท้องถิ่น และ หน่วยที่ 15 อิทธิพลทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นที่มีผลต่อการสร้างงานทัศนศิลป์              2.แบบทดสอบก่อนเรียนและแบบทดสอบหลังเรียนแบบคู่ขนาน และ 3.แบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่เรียนด้วยชุดการเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ค่าประสิทธิภาพ E1/E2  การทดสอบค่าที ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยปรากฏว่า 1.ชุดการเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ เรื่องทัศนศิลป์สะท้อนชีวิต ทั้ง 3 หน่วย มีประสิทธิภาพ 80.11/81.33, 80.92/81.67 และ 81.33/82.00 ตามลำดับ เป็นไปตามเกณฑ์ประสิทธิภาพ 80/80 2.นักเรียนที่เรียนด้วยชุดการเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์   มีความก้าวหน้าทางการเรียนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 3. นักเรียนที่เรียนด้วยชุดการเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์ มีความคิดเห็นว่าชุดการเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด

เผยแพร่
15-02-2019
ประเภท
บทความวิจัย