แนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนรายวิชาการวิจัยดำเนินงานตามทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21

  • ไสว ศิริทองถาวร มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
คำสำคัญ: การพัฒนาการเรียนการสอน, การวิจัยดำเนินงาน, ทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาความคาดหวังและความต้องการต่อการเรียนการสอนในรายวิชาการวิจัยดำเนินงานตามแนวคิดทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 และ 2) เพื่อจัดทำข้อเสนอแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนในรายวิชาการวิจัยดำเนินงาน ตามแนวคิดทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ประชากรที่ศึกษา ได้แก่ นักศึกษาสาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรม ภาคปกติ ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จำนวน 79 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถามและบันทึกการประชุม เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา และการใช้มติที่ประชุม

ผลการวิจัย เป็นดังต่อไปนี้

  1. นักศึกษาสาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรม ชั้นปีที่ 2 มีการรับรู้ในภาพรวมของการเรียนการสอนรายวิชาการวิจัยดำเนินงานทั้งสภาพความคาดหวังและสภาพความเป็นจริงล้วนอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.73 และ 3.51 ตามลำดับ ผลต่างค่าเฉลี่ยดังกล่าวมีค่าเท่ากับ 0.24 การรับรู้ในสภาพความคาดหวังสูงที่สุดอยู่ที่ด้านแหล่งการเรียนรู้ การรับรู้ของสภาพความเป็นจริงสูงที่สุดอยู่ที่ด้านด้านชั้นเรียนและบรรยากาศการเรียนรู้ ส่วนผลต่างของระดับการรับรู้ระหว่างสภาพความคาดหวังและสภาพความเป็นจริงซึ่งแสดงถึงความต้องการของผู้เรียนในการพัฒนาการเรียนการสอน ค่าสูงสุดอยู่ที่ด้านแหล่งการเรียนรู้

ข้อเสนอแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนรายวิชาการวิจัยดำเนินงานตามทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 มีดังนี้ ด้านผู้เรียน ควรส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเครือข่ายในการสืบค้นจากแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีโอกาสเลือกสื่อและนวัตกรรมการเรียนรู้ตามความสนใจ รวมถึงการฝึกใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางการวิจัยดำเนินงาน และพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ผ่านการจัดทำโครงงาน ด้านผู้สอน ควรพัฒนาเกณฑ์การวัดและประเมินผลทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ทั้งในระดับบุคคลและระดับกลุ่ม เพื่อสื่อสารระหว่างผู้เรียนและผู้สอนให้ชัดเจน รวมถึงการสอนที่สร้างบรรยากาศในการผ่อนคลายเชิงวิชาการให้มากขึ้น

เผยแพร่
15-02-2019
ประเภท
บทความวิจัย