ห้องสมุดมนุษย์: แนวคิดและการปฏิบัติในทรรศนะของพระพุทธศาสนา

  • พระมหารมย์ อนุธมฺมจารี (ศรีจันทร์ผ่อง)
คำสำคัญ: ห้องสมุดมนุษย์ มนุษย์ในพระพุทธศาสนา การปฏิบัติในทรรศนะของพระพุทธศาสนา

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาแนวคิดและรูปแบบห้องสมุดมนุษย์ (2) เพื่อศึกษาแนวคิดและการปฏิบัติตามแนวคิดห้องสมุดมนุษย์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (3) เพื่อสังเคราะห์ห้องสมุดมนุษย์ในทรรศนะของพระพุทธศาสนาเถรวาท โดยผู้วิจัยใช้การศึกษาเชิงเอกสาร (Documentary Research) และการศึกษาเชิงคุณภาพ (Quality Research) มุ่งศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และศาสตร์สากลในปัจจุบัน ทั้งส่วนที่เป็นแนวคิดทฤษฎี และกระบวนการของกิจกรรมห้องสมุดมนุษย์ ในประเด็นเกี่ยวกับการสร้างรูปแบบห้องสมุดมนุษย์ในทรรศนะของพระพุทธศาสนาเถรวาท แล้วนำเสนอด้วยกระบวนการวิเคราะห์และสังเคราะห์เชิงพรรณนา ขณะที่ผลการศึกษาวิจัย พบว่าห้องสมุดมนุษย์เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้อ่าน (Reader) กับหนังสือมนุษย์ (Human Book) ทั้งในระดับบุคคลและกลุ่มย่อย ซึ่งสอดคล้องกับกระบวนการธรรมสากัจฉาทางพระพุทธศาสนาที่เป็นกลไกสำคัญในรอยต่อของพัฒนาการทางพระพุทธศาสนาและหลักฐานทางประวัติศาสตร์จากงานวรรณกรรมเรื่องประชุมพระราชปุจฉาที่สะท้อนบทบาทของพระสงฆ์ในสังคมไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาจนปัจจุบันได้ 3 ประการ คือ 1) การรักษาและถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 2) การแก้ไขปัญหาสังคมในมิติพระพุทธศาสนา 3) การบ่มเพาะพุทธิปัญญา โดยบูรณาการแนวคิดการพัฒนาปัญญาในธรรมและหลักสัปปายะ 4 กล่าวคือ สถานที่ บุคคล อาหารและธรรม ในกรอบพระธรรมวินัยได้เป็นอย่างดี ส่วนการปฏิบัติตามแนวคิดห้องสมุดมนุษย์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่าแนวคิดห้องสมุดมนุษย์เป็นแกนสำคัญต่อพัฒนาการของสังคมสงฆ์ โดยเห็นได้อย่างชัดเจนจากกระบวนการบัญญัติสิกขาบท กระบวนการธรรมสากัจฉา ตลอดจนกระบวนการทำสังคายนาอันเป็นต้นแบบในการทำสังคายนาในยุคต่อ ๆ มา และการสังเคราะห์ห้องสมุดมนุษย์ในทรรศนะของพระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่าพระพุทธศาสนาเป็นรากเง่าของวัฒนธรรมไทยและถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือบ่มเพาะคุณธรรมจริยธรรมในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ดังนั้น พระสงฆ์จึงเป็นหนังสือมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย

เผยแพร่
01-09-2018