ความพึงพอใจของผู้ชมและแนวโน้มของละครโทรทัศน์หลังข่าวของช่อง 7 สี ในเขตกรุงเทพมหานคร

  • ทิพาภัสสร์ คล้ายจันทร์
คำสำคัญ: ความพึงพอใจของผู้ชม ละครโทรทัศน์ ช่อง 7 สี กรุงเทพมหานคร

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้วัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความพึงพอใจของละครโทรทัศน์หลังข่าวช่อง 7 สี  ในเขตกรุงเทพมหานคร 2) เปรียบเทียบความพึงพอใจของละครโทรทัศน์หลังข่าวช่อง 7 สี  ในเขตกรุงเทพมหานคร  3)  ศึกษาคุณค่า ประโยชน์ ลักษณะเด่น และแนวโน้มของละครโทรทัศน์หลังข่าวช่อง 7 สี ในเขตกรุงเทพมหานคร  โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสม คือ วิจัยเชิงปริมาณ และวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ชมละครโทรทัศน์หลังข่าวของช่อง 7 สี ในเขตกรุงเทพมหานคร ประมาณ 400 คน ความเชื่อมั่นของเครื่องมือเท่ากับ .9823  สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าร้อยละค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน t – test และ f – test ผลวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง  อายุต่ำกว่าหรือเทียบเท่า 25 ปี  สถานภาพโสด  มีระดับการศึกษาปริญญาตรี  รายได้ต่อเดือนต่ำกว่าหรือเทียบเท่า 5,000 บาท    ด้านความพึงพอใจของผู้ชมละครโทรทัศน์หลังข่าวช่อง 7 สีในเขตกรุงเทพมหานคร  เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า มีความพึงพอใจมากที่สุดด้านฉากประกอบละคร/ สถานที่ถ่ายละคร เป็นอันดับที่หนึ่ง    

แนวโน้มหรือทิศทางในอนาคตของละครช่อง 7 สี พบว่า ด้านคุณภาพของละคร   บริษัทผลิตละครหรือผู้จัดละครก็ต้องพัฒนาให้ทัน ทั้งอุปกรณ์การถ่ายทำละคร ภาพมีความคมชัดมากขึ้น  เพราะการแพร่ภาพสมัยนี้ปรับเป็นระบบ HD ทั้งหมด    นักแสดงต้องมีบุคลิกภายนอกที่เหมาะสมต่อคาแร็กเตอร์ตามบทประพันธ์  ผู้กำกับหรือผู้จัดอาจจะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และมีชื่อเสียง แต่จะยังคงมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นคนที่อยู่ต่างจังหวัด  ด้านคุณค่าของละคร  ละครจะมีแนวที่หลากหลายมากขึ้น  เพื่อทำให้กลุ่มเป้าหมายมีทางเลือกที่จะตัดสินใจเลือกรับชมตามความต้องการของตัวเอง และจะต้องมีการสอดแทรกคุณค่าและประโยชน์เข้าไปในเนื้อหาของบทละคร ส่งเสริมด้านคุณธรรม  การปลูกฝัง ความสามัคคี  การให้อภัยกัน  หรืออีกอย่างที่เรียกว่าทำละครรับใช้สังคม ให้เพิ่มมากขึ้น  จะเห็นว่าละครโทรทัศน์ของช่อง 7 สี จะมีการเซฟเรื่องของ เพศ ภาษา และเนื้อหาความรุนแรง ก่อนที่จะออกอากาศสู่สายตาประชาชน

เผยแพร่
01-05-2017
ประเภท
บทความวิชาการ