รูปแบบการส่งเสริมทักษะชีวิตในโรงเรียนประถมศึกษาของพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาในการส่งเสริมทักษะชีวิตของโรงเรียนประถมศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2) ศึกษาระดับทักษะชีวิตของนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาของพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และ 3) พัฒนารูปแบบการส่งเสริมทักษะชีวิตในโรงเรียนประถมศึกษาของพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Method) โดยการศึกษาสภาพปัจจุบันในการส่งเสริมทักษะชีวิต กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้บริหาร 260 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามมีค่า IOC อยู่ระหว่าง 0.60-1.00 วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าความถี่และค่าร้อยละ การศึกษาระดับทักษะชีวิตของนักเรียน กลุ่มตัวอย่างเป็นครูผู้สอน 375 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามมีค่า IOC อยู่ระหว่าง 0.80-1.00 วิเคราะห์ข้อมูล โดยการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและจัดลำดับความต้องการจำเป็นด้วยวิธี Priority Needs Index (PNI) การพัฒนารูปแบบการส่งเสริมทักษะชีวิต โดยผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน เลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ผลการวิจัย พบว่า 1) สภาพปัจจุบันโรงเรียนมีความพร้อมในการส่งเสริมทักษะชีวิตอยู่ในระดับปานกลาง โรงเรียนมีโครงการในการพัฒนาทักษะชีวิต ได้แก่ โครงการครูแดร์ โครงการลูกเสือเนตรนารี โครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ส่วนสภาพปัญหาโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง 2) การศึกษาระดับทักษะชีวิต พบว่า สภาพที่เป็นอยู่จริงอยู่ในระดับมาก สภาพที่คาดหวังอยู่ในระดับมากที่สุด ทักษะชีวิตที่มีความต้องการจำเป็นสูงสุด ได้แก่ ทักษะการคิดสร้างสรรค์ ทักษะการแก้ปัญหา และทักษะการคิดวิเคราะห์ 3) รูปแบบการส่งเสริมทักษะชีวิต ประกอบด้วย หลักการและแนวคิด วัตถุประสงค์ กระบวนการ การกำกับติดตาม และเงื่อนไขความสำเร็จ ส่วนผลการประเมินรูปแบบ พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก