การพัฒนาบทบาทภาคประชาสังคมเพื่อส่งเสริมสิทธิชุมชนประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา ชุมชนประมงพื้นบ้านอ่าวอุดม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
บทคัดย่อ
ผลจากโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังได้กระทบต่ออาชีพประมงพื้นบ้านในพื้นที่อ่าวอุดม เพราะการก่อสร้างทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ คราบน้ำมัน ปัญหาขยะ ส่งผลทำให้จำนวนสัตว์ทะเลรวมทั้งพื้นที่ทำประมงพื้นบ้านลดลง นอกจากนี้มลพิษทางเสียงและฝุ่นยังส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชน จึงเกิดการก่อตั้งกลุ่มประชาสังคมขึ้นเพื่อต่อสู้เรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมการพัฒนานั้น มีทั้งกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นจากการรวมตัวของสมาชิกภายในชุมชนอ่าวอุดม และกลุ่มประชาสังคมจากภายนอกชุมชนที่เข้ามาสนับสนุน ดำเนินงานใน 2 รูปแบบ คือ 1) รูปแบบทางการ โดยตัวแทนกลุ่มประชาสังคมในพื้นที่ได้รับแต่งตั้งเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการร่วมกับภาครัฐเพื่อติดตามผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากโครงการ และ 2) รูปแบบกึ่งทางการ คือการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มประชาสังคมในพื้นที่ หน่วยงานราชการ และกลุ่มประชาสังคมนอกพื้นที่ ทั้งนี้องค์กรภาคประชาสังคมมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนประมงพื้นบ้าน 5 ประการ คือ (1) ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับชุมชนประมงพื้นบ้าน (2) นำเสนอข้อเรียกร้องของชุมชนผ่านช่องทางต่าง ๆ (3) สนับสนุนชุมชนประมงพื้นบ้านให้ได้รับสิทธิและเข้าถึงสิทธิของชุมชน (4) สร้างเครือข่ายการพัฒนาให้แก่ชุมชนประมงพื้นบ้าน และ (5) เรียกร้องให้รัฐบาลบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ....เพื่อส่งเสริมบทบาทของภาคประชาสังคมไทยให้ชัดเจนมากขึ้น