แรงจูงใจในการทำงานที่ส่งผลต่อความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานสถานีบริการน้ำมัน ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

  • ปานทิพย์ ลิมปติยากร คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด
  • สุเมธ ธุวดาราตระกูล คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด
คำสำคัญ: แรงจูงใจในการทำงาน, ความผูกพันต่อองค์กร, สถานีบริการน้ำมัน

บทคัดย่อ

งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ1) ศึกษาระดับความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานสถานีบริการน้ำมันในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 2) ศึกษาระดับแรงจูงใจในการทำงานของพนักงานสถานีบริการน้ำมันในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และ 3) วิเคราะห์อิทธิพลของแรงจูงใจในการทำงานที่ส่งผลต่อความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานสถานีบริการน้ำมันในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์โดยเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ ประชากร คือ พนักงานสถานีบริการน้ำมันในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวนตัวอย่างที่ใช้เท่ากับ 384 คน งานวิจัยนี้ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลซึ่งค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามเท่ากับ 0.999 และข้อคำถามมีค่า IOC เท่ากับ 1 ทุกข้อ และใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบบเจาะจง สถิติที่ใช้ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการถดถอยพหุคูณ ผลการวิจัย พบว่า 1) ระดับความผูกพันในการทำงานของพนักงานสถานีบริการน้ำมันในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ความผูกพันด้านพฤติกรรมมาเป็นลำดับแรก รองลงมา คือ ความผูกพันด้านทัศนคติ และความต้องการที่จะรักษาความเป็นสมาชิกภาพในองค์การตามลำดับ 2) ระดับแรงจูงใจในการทำงานของพนักงานสถานีบริการน้ำมันในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ปัจจัยจูงใจ มาเป็นลำดับแรก และปัจจัยค้ำจุนมาเป็นอันดับสอง และ 3) แรงจูงใจในการทำงานด้านปัจจัยจูงใจ ได้แก่ ความสำเร็จในการทำงานกับการได้รับการยอมรับนับถือ และด้านปัจจัยค้ำจุน ได้แก่ เงินเดือน โอกาสที่จะได้รับความก้าวหน้า นโยบาย และการบริหารงาน และด้านความมั่นคงในงานมีอิทธิพลต่อความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานสถานีบริการน้ำมันในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ร้อยละ 82.80 (R2 = 0.828) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

เผยแพร่
29-03-2024