ผลของการปรึกษากลุ่มตามทฤษฎีพิจารณาเหตุผล อารมณ์และพฤติกรรม ต่อความเครียดในการทำงานของครูศูนย์เด็กเล็ก

  • เวณุกา ทัศนภักดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
  • กาญจนา สุทธิเนียม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
  • ชลพร กองคำ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
  • ชูวิทย์ รัตนพลแสนย์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
คำสำคัญ: ครูศูนย์เด็กเล็ก, ความเครียดในการทำงาน, การให้คำปรึกษากลุ่มตามทฤษฎีพิจารณาเหตุผล อารมณ์ และพฤติกรรม

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งการทดลอง มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อเปรียบเทียบความเครียดในการทำงานของครูศูนย์เด็กเล็กกลุ่มทดลองที่ได้รับการปรึกษากลุ่มตามทฤษฎีพิจารณาเหตุผล อารมณ์และพฤติกรรมระหว่างก่อนและหลังการทดลอง (2) เพื่อเปรียบเทียบความเครียดในการทำงานของครูศูนย์เด็กเล็กระหว่างกลุ่มทดลองที่ได้รับการปรึกษากลุ่มตามทฤษฎีพิจารณาเหตุผล อารมณ์และพฤติกรรมและกลุ่มควบคุมไม่ได้รับการให้การปรึกษากลุ่ม ก่อนการทดลองและหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่างคือครูศูนย์เด็กเล็กวิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัยในพระราชูปถัมภ์ จังหวัดนครปฐม จำนวนทั้งหมด 8 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบวัดความเครียดในการทำงาน ความตรงเชิงเนื้อหามีค่า 0.60-1.00 ค่าความเที่ยง 0.945 และโปรแกรมการปรึกษากลุ่มตามทฤษฎีพิจารณาเหตุผล อารมณ์และพฤติกรรม ดัชนีความสอดคล้องมีค่า 0.60-1.00 การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติบรรยาย ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบความเครียดในการทำงานใช้สถิติ Paired – sample t – test และเปรียบเทียบความเครียดในการทำงานระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยใช้สถิติ t-test independent ผลการวิจัยที่สำคัญสรุปได้ดังนี้ 1.ความเครียดในการทำงานของครูศูนย์เด็กเล็กฯ กลุ่มทดลองหลังได้รับการให้การปรึกษากลุ่มลดลงก่อนให้การปรึกษากลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2.ความเครียดในการทำงานของครูศูนย์เด็กเล็กฯ กลุ่มทดลองหลังได้รับการปรึกษากลุ่มลดลงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

เผยแพร่
29-04-2023