ผลการจัดการเรียนการสอนแบบใช้เกม เพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาการสร้างเสริมสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

  • อันธิฌา สายบุญศรี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
  • นางจิราพร เกษรสุวรรณ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
  • นางศิริพร นันทเสนีย์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
  • อริยา ดีประเสริฐ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
คำสำคัญ: การจัดการเรียนการสอนแบบใช้เกม, การจัดการเรียนการสอนแบบปกติ, ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน, นักศึกษาพยาบาล

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi-experimental Design) ชนิด 2 กลุ่มวัดก่อน และหลังการทดลอง (The Two Group Pretest-posttest Design) มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการเรียนการสอน โดยใช้เกมในหน่วยการเรียนเรื่องการพยาบาลผู้ป่วยจิตเวชเด็ก และวัยรุ่นของนักศึกษาพยาบาลกลุ่มทดลอง 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อน และหลังการเรียนการสอน โดยใช้การสอนแบบปกติในหน่วยการเรียนเรื่องการพยาบาลผู้ป่วยจิตเวชเด็ก และวัยรุ่นของนักศึกษาพยาบาลกลุ่มควบคุม 3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุมในหน่วยการเรียนเรื่องการพยาบาลผู้ป่วยจิตเวชเด็ก และวัยรุ่น กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 3 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาการสร้างเสริมสุขภาพจิต และการพยาบาลจิตเวช ปีการศึกษา 2564 จำนวน 87 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทดลอง 44 คน และกลุ่มควบคุม 43 คน ซึ่งกลุ่มทดลองจะได้รับการจัดการเรียนการสอนแบบใช้เกม และกลุ่มควบคุมจะได้รับการเรียนการสอนแบบปกติ (Active Learning) เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการวิจัยประกอบด้วย รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบใช้เกม และแบบประเมินผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน t-test Dependent และ Independent t-test ผลการศึกษา พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องการพยาบาลผู้ป่วยจิตเวชเด็ก และวัยรุ่นของนักศึกษาพยาบาล กลุ่มทดลองที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนแบบใช้เกม กลุ่มควบคุมได้รับการจัดการเรียนการสอนแบบปกติ กลุ่มทดลองที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนแบบใช้เกม สูงกว่านักศึกษาพยาบาลกลุ่มควบคุมที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนแบบปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

เผยแพร่
29-03-2024
ประเภท
บทความวิจัย