ปัญหาและแนวทางการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนของประเทศไทย
บทคัดย่อ
บทความวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกรณีที่จะก่อให้เกิดอันตราย และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนของต่างประเทศ และประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและผลกระทบด้านกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และนำเสนอข้อเสนอด้านนโยบายในเชิงกฎหมาย เศรษฐกิจ และสังคมแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยศึกษาเอกสาร กฎหมาย นโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ทำให้ทราบถึงปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนของประเทศไทยที่มาจากการการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุการเมาแล้วขับ การดื่มก่อนวัยอันควร หรือการดื่มในปริมาณที่มากเกินพอดี ผลของการวิจัยได้เสนอข้อเสนอแนะ ประการแรก การเพิ่มมาตรการเรื่องปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกาย โดยการใช้ปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายเป็นเกณฑ์ในการกำหนดบทลงโทษ ประการที่สอง สนับสนุนการให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อร่างกาย และความเข้าใจเกี่ยวกับ ดื่มมาตรฐาน (Standard Drink) ประการที่สาม ส่งเสริมให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการป้องกันและลดปัญหาเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์อย่างไม่รับผิดชอบ ประการที่สี่ เพิ่มมาตรการจำแนกความร้ายแรงของการกระทำความผิด โดยพิจารณาจากจำนวนครั้งในการกระทำความผิด ประการที่ห้า การเพิ่มมาตรการบังคับติดตั้งเครื่อง Ignition Interlock เมื่อผู้กระทำความผิดเมาแล้วขับมีพฤติกรรมและความผิดที่ร้ายแรง