การวัดปริมาณดีเอ็นเอจากเลือดของมนุษย์ที่ได้จากยุงด้วยเทคนิคเรียลไทม์พีซีอาร์

  • ภัสรา ควรเนตร คณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
  • ธิติ มหาเจริญ คณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
  • ปฐมวดี ญาณทศนีย์จิต คณะวิทยาศาสตร์ จุุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คำสำคัญ: ยุง, ดีเอ็นเอ, เรียลไทม์พีซีอาร์

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปริมาณและคุณภาพดีเอ็นที่คงอยู่ที่ได้จากยุงด้วยเทคนิคเรียลไทม์พีซีอาร์เมื่อเวลาผ่านไปในแต่ละช่วงเวลานับตั้งแต่เวลาที่ยุงกินเลือดโดยแบ่งเป็น 4 ช่วงเวลาคือ 0, 24, 48 และ 72 ชั่วโมง เป็นการวิจัยเชิงทดลองโดยใช้เครื่อง QuantStudio™ 6 Flex Real-Time PCR System ด้วยไพร์เมอร์ CADM1 จำนวน 3 ขนาด ได้แก่ 121, 229 และ 397 คู่เบส กลุ่มตัวอย่างในการทดลองคือ ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti), ยุงลายสวน (Aedes albopictusi) และยุงรำคาญ (Culex quinguefasciatus) และใช้สถิติการทดสอบ General Linear Model ผลการวิจัยพบว่า 1) ช่วงเวลาที่แตกต่างกันจะทำให้ความเข้มข้นของดีเอ็นเอที่ได้จากยุงทั้ง 3 สายพันธุ์ คือ ยุงลายบ้าน ยุงลายสวน และยุงรำคาญ มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (F = 13.906, p value= 0.000)  2) ความเข้มข้นของดีเอ็นเอที่ได้จากยุงทั้ง 3 สายพันธุ์ คือ ยุงลายบ้าน ยุงลายสวน และ ยุงรำคาญ มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (F=4.623, p value=0.018) และ 3) ผลการวิเคราะห์คุณภาพของดีเอ็นเอที่คงอยู่ พบว่าสามารถเพิ่มจำนวนได้ทุกไพร์เมอร์ในทุกช่วงเวลา สรุปได้ว่า เมื่อช่วงเวลาผ่านไปส่งผลให้ปริมาณดีเอ็นเอที่คงอยู่ลดลงและสายพันธุ์ของยุงส่งผลต่อปริมาณดีเอ็นเอที่คงอยู่ต่างกัน และดีเอ็นเอที่ได้มีคุณภาพสามารถนำไปตรวจในงานนิติวิทยาศาสตร์ต่อไปได้ ทำให้สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานเชื่อมโยงไปสู่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานที่เกิดเหตุได้ เป็นการตีกรอบผู้ต้องสงสัยให้แคบลง ส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบดำเนินการไปด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง และน่าเชื่อถือ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจพิสูจน์หลักฐานอีกด้วย

เผยแพร่
04-06-2023