การออกแบบการซื้อขายสินค้าเกษตรผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งผลต่อความสำเร็จและแนวทางการพัฒนารูปแบบการสนับสนุนการซื้อขายสินค้าเกษตรในภาคตะวันออก: กรณีศึกษาทุเรียนในจังหวัดระยองและจันทบุรี

  • อธิป แท่นรัตนกุล วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
  • ชนิสรา แก้วสวรรค์ วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
  • ศิริญญา วิรุณราช วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
คำสำคัญ: รูปแบบสนับสนุน, การซื้อขายสินค้าเกษตร, ทุเรียน, ภาคตะวันออก

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพปัญหา อุปสรรค และแนวทางการพัฒนารูปแบบสนับสนุนการซื้อขายสินค้าเกษตรผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของเกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออก และเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของการออกแบบการซื้อขายสินค้าเกษตรผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กับความสำเร็จของการซื้อขายสินค้าเกษตรผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการพัฒนารูปแบบการสนับสนุนการซื้อขายสินค้าเกษตรในภาคตะวันออก โดยวิธีวิจัยแบบผสานวิธี คือ การวิจัยเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์กับผู้แทนจากหน่วยงานรัฐบาลและเอกชน จำนวน 19 คน ร่วมกับการวิจัยเชิงปริมาณโดยใช้แบบสอบถามกับตัวแทนชาวสวนทุเรียนในจังหวัดระยองและจันทบุรี จำนวน 400 ชุด และการสนทนากลุ่มกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 8 คน ผลการวิจัยพบว่าปัญหาและอุปสรรคออกเป็น 4 ประเด็น คือ คุณภาพและปริมาณของทุเรียน, การสนับสนุนจากภาครัฐ, ระบบโลจิสติกส์และ ช่องทางการจัดจำหน่าย ในส่วนแนวทางการพัฒนารูปแบบการสนับสนุนการซื้อขายสินค้าเกษตรในภาคตะวันออกทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านคุณภาพและปริมาณของทุเรียน, ด้านการสนับสนุนจากภาครัฐ, ด้านระบบโลจิสติกส์ และด้านช่องทางการจัดจำหน่าย โดยความสัมพันธ์ของปัจจัยพบว่า ปัจจัยด้านการออกแบบซื้อขายสินค้าเกษตร ที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการซื้อขายสินค้าเกษตรผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ผู้ขายสินค้า, พื้นที่เว็บไซด์ที่ให้บริการ, ระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, ผู้ดำเนินการขนส่งสินค้า และผู้ซื้อสินค้า ปัจจัยด้านความสำเร็จของการซื้อขายสินค้าเกษตรที่ส่งผลต่อแนวทางการพัฒนารูปแบบสนับสนุนการซื้อขายสินค้าเกษตร ได้แก่ กฎหมายการส่งออก, กฎหมายการนำเข้า, ข้อกีดกันทางการค้า, คู่แข่งทางการค้า และความชำนาญของเกษตรกร

เผยแพร่
04-06-2023