การจำแนกลักษณะองค์ประกอบของระเบิดที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้เทคนิค Scanning Electron Microscope/Energy Dispersive X-ray Spectroscopy

  • ธิติ มหาเจริญ คณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
คำสำคัญ: ธาตุองค์ประกอบ, วัตถุระเบิด, ชายแดนภาคใต้, กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด, เครื่องเอกซเรย์สเปคโตรสโคปีแบบกระจายพลังงาน

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ลักษณะธาตุองค์ประกอบที่สำคัญในวัตถุระเบิด รวมถึงเปรียบเทียบปริมาณธาตุองค์ประกอบในวัตถุระเบิดแต่ละชนิดที่พบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้การวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเชิงทดลอง โดยใช้ตัวอย่างเศษวัตถุระเบิดที่ใช้ในการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 9 ตัวอย่าง ทำการวิเคราะห์ด้วยเทคนิคกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดร่วมกับเครื่องเอกซเรย์สเปคโตรสโคปีแบบกระจายพลังงาน วิเคราะห์ผลด้วยสถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว ผลการวิจัยพบว่าธาตุองค์ประกอบของวัตถุระเบิดที่มีปริมาณแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ได้แก่ ธาตุคาร์บอน (C) ไนโตรเจน (N) ออกซิเจน (O) แมกนีเซียม (Mg) อะลูมิเนียม (Al) ซิลิกอน (Si) โพแทสเซียม (K) โครเมียม (Cr) แมงกานีส (Mn) เหล็ก (Fe) สังกะสี (Zn) คลอรีน (Cl) แคลเซียม (Ca) และกำมะถัน (S) ส่วนธาตุองค์ประกอบที่มีปริมาณไม่แตกต่างกัน ได้แก่ ไทเทเนียม (Ti) โซเดียม (Na) และเงิน (Ag) เมื่อจำแนกธาตุองค์ประกอบแต่ละชนิดที่พบในตัวอย่างเศษวัตถุระเบิด พบว่า ธาตุคาร์บอน (C) ออกซิเจน (O)  ซิลิกอน (Si) แมงกานีส (Mn) และเหล็ก (Fe) พบใน 9 ตัวอย่าง โพแทสเซียม (K) และสังกะสี (Zn) พบใน 8 ตัวอย่าง แคลเซียม (Ca) พบใน 7 ตัวอย่าง แมกนีเซียม (Mg) พบใน 6 ตัวอย่าง อะลูมิเนียม (Al) พบใน 5 ตัวอย่าง  คลอรีน (Cl) พบใน 4 ตัวอย่าง ไนโตรเจน (N) โครเมียม (Cr) และกำมะถัน (S) พบใน 2 ตัวอย่าง สามารถสรุปได้ว่า วัตถุระเบิดทั้ง 9 ตัวอย่าง มีลักษณะธาตุองค์ประกอบ จำนวนและปริมาณธาตุที่เป็นองค์ประกอบแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และมีลักษณะเฉพาะตัว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสารที่มีคุณสมบัติในการระเบิดและสารที่นำมาผสมเพื่อให้มีคุณสมบัติเป็นวัตถุระเบิด

เผยแพร่
01-10-2023