การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าใหม่และการวัดการกระจายรายได้ของผลิตภัณฑ์ขนมลา ในจังหวัดนครศรีธรรมราช
บทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าใหม่ และศึกษาการวัดการกระจายรายได้ของผลิตภัณฑ์ขนมลา กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ประชากรที่ใช้ในการศึกษาคือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราชจำนวน 6 กลุ่ม ในการวิจัยมีการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ ข้อมูลกระบวนการผลิต ราคาขาย ต้นทุนในการผลิตและค่าใช้จ่ายอื่นๆ จากแบบสอบสัมภาษณ์โดยการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่า สัดส่วนรายได้ และมูลค่าเพิ่ม ทั้งยังทำการเก็บข้อมูลการบันทึกรายได้ของชุมชน เพื่อนำมาวิเคราะห์การกระจายรายได้ของชุมชนผู้ผลิตขนมลา ผลวิจัยพบว่า 1) ห่วงโซ่คุณค่าใหม่ผลิตภัณฑ์ขนมลาของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสามารถแบ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำทั้งหมด 6 ภาคี ได้แก่ ผู้ผลิต ผู้แปรรูปขั้นต้น ผู้แปรรูปขั้นสุดท้าย ผู้ขายส่ง ผู้ขายปลีก และผู้บริโภค 2) ผลการวิเคราะห์สัดส่วนรายได้และมูลค่าเพิ่มของแต่ละผลิตภัณฑ์ในห่วงโซ่คุณค่าใหม่ พบว่าการแปรรูปผลิตภัณฑ์สามารถเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบได้สูงสุดถึง 76.46 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับราคาขนมลาแผ่น สำหรับสัดส่วนรายได้ในแต่ละภาคี พบว่าผู้ผลิตมีสัดส่วนรายได้ต่ำสุด ส่วนผู้แปรรูปและผู้ขายส่งมีสัดส่วนรายได้สูงสุด 3) ผลการวัดการกระจายรายได้ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั้ง 6 กลุ่ม มีการกระจายรายได้ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชจำนวน 3,962,990.61 บาท คิดเป็นร้อยละ 96.05 และการกระจายรายได้นอกพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชจำนวน 62,751.58 บาท คิดเป็นร้อยละ 3.88 ของการกระจายรายได้ทั้งหมด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนตรงตามความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภค สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้แก่ชุมชน