การจัดการอาชีวศึกษาระหว่างประเทศไทยกับประเทศเยอรมนี: การศึกษาเปรียบเทียบ
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุเพื่อศึกษาเปรียบเทียบการอาชีวศึกษาของประเทศไทยกับประเทศเยอรมนีในด้านนโยบายและจุดมุ่งหมาย ด้านการบริหารจัดการ ด้านหลักสูตรและการจัดเรียนการสอนและด้านสภาพการณ์ปัจจุบันโดยใช้วิธีวิทยาการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์จากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการอาชีวศึกษาของทั้ง 2 ประเทศ จำนวน 20 ฉบับ ผลการวิจัยพบว่า ด้านนโยบายและจุดมุ่งหมาย ทั้งสองประเทศ มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ทักษะและความสามารถเชิงวิชาชีพและการประกอบอาชีพ การผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และความต้องการของการตลาดแรงงานในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ด้านการบริหารและการจัดการ รัฐบาลกลางของทั้งสองประเทศจะเป็นผู้กำหนดนโยบายหลัก แต่ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการบริหารจัดการด้านอาชีวศึกษาแบบรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งประเทศเยอรมนีมีการบริหารจัดการด้านอาชีวศึกษาแบบกระจายอำนาจไปยังมลรัฐต่าง ๆ ด้านหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ ทั้งสองประเทศมีหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้แบบระบบทวิภาคีที่เรียกว่า Dual System มีการเรียนทั้งเนื้อหาทางด้านทฤษฎีและมีการฝึกงานในสถานประกอบการซึ่งเรียกว่า Apprenticeship ส่วนด้านสภาพการณ์ปัจจุบันทั้งสองประเทศ มีการกระจายหน่วยงานรับผิดชอบมากขึ้นเน้นการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญรวมทั้งการพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะทางด้านสังคม