การพัฒนาแบบวัดทักษะสร้างสรรค์นวัตกรรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น

  • สุจารี สำอางค์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • น้ำทิพย์ องอาจวาณิชย์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
คำสำคัญ: ทักษะสร้างสรรค์นวัตกรรม, แบบวัด, เกณฑ์ปกติ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ 1) สร้างและหาคุณภาพของแบบวัดทักษะสร้างสรรค์นวัตกรรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 2) เพื่อสร้างเกณฑ์ปกติของแบบวัดทักษะสร้างสรรค์นวัตกรรมสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุโขทัยจำนวน 831 คน ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่2 ปีการศึกษา 2563 จากโรงเรียนทั้งหมด 27 โรงเรียน ที่ได้มาจากการสุ่มหลายขั้นตอน เครื่องมือที่สร้างขึ้นเป็นแบบวัดทักษะสร้างสรรค์นวัตกรรม ลักษณะเป็นแบบวัดประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 43 ข้อ ผลการวิจัย พบว่า แบบวัดที่สร้างขึ้น ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่ การคิดอย่างสร้างสรรค์ ทำงานร่วมกับบุคคลอื่นอย่างสร้างสรรค์ และการสร้างนวัตกรรมให้เกิดผลสำเร็จ คุณภาพของแบบวัดมีความตรงเชิงเนื้อหาของคำนิยามของทักษะสร้างสรรค์นวัตกรรม มีค่าระหว่าง 0.6–1 ความตรงเชิงเนื้อหาของแบบวัด มีค่าระหว่าง 0.6–1 ค่าอำนาจจำแนกทั้งสามองค์ประกอบ มีค่าระหว่าง 0.26–0.67 ผลการวิเคราะห์ความเชื่อมั่นทั้งฉบับมีค่า 0.925 ซึ่งมีค่าอยู่ในระดับสูง ค่าน้ำหนักองค์ประกอบของตัวแปรสังเกตได้ทุกตัวมีค่าเป็นบวก ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 0.41-0.75 เกณฑ์ปกติในด้านการคิดอย่างสร้างสรรค์  T ปกติ มีค่าระหว่าง T10–T71 ด้านทำงานร่วมกับบุคคลอื่นอย่างสร้างสรรค์ T ปกติมีค่าระหว่าง T11–T69 ด้านการสร้างนวัตกรรมให้เกิดผลสำเร็จ T ปกติ มีค่าระหว่าง T12–T69 และแบบวัดทักษะสร้างสรรค์นวัตกรรม สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นทั้งฉบับ T ปกติ มีค่าระหว่าง T7–T71

เผยแพร่
01-10-2023