องค์ประกอบของความเครียดทางเทคโนโลยีและกลไกยับยั้งความเครียดทางเทคโนโลยีต่อการปฏิบัติงานที่บ้าน: บริบทอุตสาหกรรมธนาคาร

  • ณัชพล ตัณฑ์เอกคุณ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • อรพรรณ คงมาลัย วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คำสำคัญ: การปฏิบัติงานที่บ้าน, การทำงานที่บ้าน, ความเครียดทางเทคโนโลยี, กลไกยับยั้บความเครียดทางเทคโนโลยี

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาองค์ประกอบของความเครียดทางเทคโนโลยีและกลไกยับยั้งความเครียดทางเทคโนโลยีต่อการปฏิบัติงานที่บ้าน บริบทอุตสาหกรรมธนาคาร รวมไปถึงเพื่อเสนอแนะแนวทางทางเพื่อบรรเทาความเครียดจากเทคโนโลยีให้กับบุคลากร งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ โดยใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูล ซึ่งถูกทดสอบความถูกต้องของเนื้อหา ได้ดัชนีความสอดคล้อง (IOC) ของข้อคำถามทุกข้ออยู่ระหว่าง 0.500–1.000 และทดสอบความน่าเชื่อถือของแบบสอบถาม ได้ค่าสัมประสิทธิ์ Cronbach’s Alpha เท่ากับ 0.827 และได้เก็บแบบสอบถามทางออนไลน์ และออฟไลน์ โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นพนักงานธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ที่เคยปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from home) ด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง โดยแบ่งประชากรออกเป็น 5 กลุ่มพนักงานธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย และสุ่มจำนวนตัวอย่างตามสัดส่วนของขนาดกลุ่มประชากร ได้รับแบบสอบถามที่มีความสมบูรณ์กลับมาจำนวน 445 ชุด และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ทั้งเชิงพรรณนา เชิงอนุมาน ซึ่งการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจสามารถสรุปองค์ประกอบของปัจจัยด้านความเครียดทางเทคโนโลยี ประกอบด้วยความซับซ้อนของเทคโนโลยี การทำงานมากขึ้นจากเทคโนโลยี การถูกบุกรุกจากเทคโนโลยี และความไม่ปลอดภัยจากเทคโนโลยี ส่วนองค์ประกอบของปัจจัยกลไกยับยั้งความเครียดทางเทคโนโลยี ประกอบด้วยการสนับสนุนในการให้ความรู้ และการสนับสนุนทางเทคนิค โดยผลการวิจัยสามารถเสนอแนวทางเพื่อบรรเทาความเครียดจากการใช้เทคโนโลยีสำหรับบุคลากร สำหรับองค์กรในการนำเทคโนโลยีหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการทำงานควรมีการให้ระยะเวลาพนักงานในการเรียนรู้ ให้พนักงานมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง และจัดเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ สำหรับพนักงาน เพื่อบรรเทาความเครียดจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ และช่วยลดผลกระทบต่อพนักงานหากต้องการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ภายในองค์กรในอนาคต

เผยแพร่
29-03-2024
ประเภท
บทความวิจัย