รูปแบบเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อความฉลาดทางอารมณ์ของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน

  • วลัยพร ศรีรัตน์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
  • ชนะศึก นิชานนท์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
  • สุขุม เฉลยทรัพย์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
คำสำคัญ: ความฉลาดทางอารมณ์, ผู้บริหารสถานศึกษา, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน

บทคัดย่อ

 การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความฉลาดทางอารมณ์ของผู้บริหารสถานศึกษา และพัฒนารูปแบบเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อความฉลาดทางอารมณ์ของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Methods) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการตอบแบบสอบถามคือ ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 450  คน โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม มาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale) ผ่านการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ มีค่าดัชนีความสอดคล้องอยู่ระหว่าง 0.60-1.00 และมีค่าความเชื่อมั่น 0.954 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุด้วยโปรแกรมลิสเรล (LISREL) ผลการวิเคราะห์ระดับความฉลาดทางอารมณ์ของผู้บริหารสถานศึกษาในภาพรวม ความคิดเห็นเกี่ยวกับความฉลาดทางอารมณ์ของผู้บริหารสถานศึกษา อยู่ในระดับมาก (X= 4.00, S.D. = 0.46) และผลการพัฒนารูปแบบเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อความฉลาดทางอารมณ์ของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน พบว่า 1) การอบรมเลี้ยงดู มีอิทธิพลทางตรงเชิงบวกต่อบุคลิกภาพ การใช้อำนาจ แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ และความฉลาดทางอารมณ์ของผู้บริหาร 2) บุคลิกภาพ มีอิทธิพลทางตรงเชิงบวกต่อการใช้อำนาจ  และความฉลาดทางอารมณ์ของผู้บริหาร 3) การใช้อำนาจ มีอิทธิพลทางตรงเชิงบวกต่อความฉลาดทางอารมณ์ของผู้บริหาร 4) แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ มีอิทธิพลทางตรงเชิงบวกต่อการใช้อำนาจ และความฉลาดทางอารมณ์ของผู้บริหาร 

เผยแพร่
17-04-2024
ประเภท
บทความวิจัย