ความจำเป็นของการเป็นบริษัทของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย

  • ภิญโญ คูวัฒนาเสนีย์
คำสำคัญ: วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, ห้างหุ้นส่วน, บริษัทจำกัด, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจในลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อม (SMEs) และเพื่อให้ทราบถึงคุณลักษณะของการประกอบธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ โดยศึกษาจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และแหล่งข้อมูลอื่น ๆ เช่น ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และข้อมูลเกี่ยวกับการเสียภาษี เป็นต้น ผลการศึกษาพบว่าการประกอบกิจการวิสาหกิจขาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทยนั้นนิยมประกอบกิจการในรูปแบบต่อไปนี้ คือ กิจการเจ้าของเดียว ห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด เมื่อพิจารณาความเหมาะสมของวิสาหกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อม (SMEs) พบว่าการประกอบธุริจในรูปแบบของบริษัทจำกัดเป็นลักษณะของกิจการที่เหมาะสมเนื่องจาก 1) ขั้นตอนการจัดตั้งจะมีขั้นตอนมากกว่ารูปแบบอื่น แต่ก็ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบทำให้ในปัจจุบันสามารถจดทะเบียนบริษัทให้แล้วเสร็จได้ภายในวันเดียว 2) ทุนในการประกอบกิจการ บริษัทสามารถจัดหาทุนจากการขายหุ้นได้ ทำให้สามารถหาเงินทุนในการดำเนินกิจการได้อย่างดี นอกจากนี้ยังสามารถออกหุ้นเพิ่มทุนได้ในกรณีที่มีความจำเป็นอีกด้วย 3) ความรับผิดในหนี้ของกิจการของผู้เป็นสมาชิกอันได้แก่ ผู้ถือหุ้นที่มีความรับผิดเพียงค่าหุ้นที่ตนยังชำระไม่ครบถ้วนเท่านั้น 4) การบริหารจัดการสามารถกำหนดคุณสมบัติผู้ทำหน้าที่บริหารจัดการหรือที่เรียกว่า “กรรมการ” ไว้ในข้อบังคับของบริษัทเพื่อให้เหมาะสมกับการบริหารกิจการได้ 5) ความสามารถในการดำเนินกิจการบางประเภทที่กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิไว้ เช่น การประมูลงานจากหน่วยงานของรัฐ 6) การได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้น การดำเนินกิจการของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทยนั้นเหมาะกับรูปแบบของบริษัทจำกัด

เผยแพร่
01-05-2018