การพัฒนาโมเดลเชิงสาเหตุความจงรักภักดีที่มีต่อโรงเรียนของครู โรงเรียนในคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

  • ธนัฐพร ธรรมโฆษก สำนักงานการศึกษาเอกชน
  • ชนะศึก นิชานนท์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
คำสำคัญ: ความจงรักภักดีที่มีต่อโรงเรียน, ความยึดมั่นผูกพันที่มีต่อโรงเรียน, โรงเรียนคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความจงรักภักดี และพัฒนาและตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลเชิงสาเหตุความจงรักภักดีที่มีต่อโรงเรียนของครูโรงเรียนคณะภคินีเซนต์ ปอล เดอ ชาร์ตร กับข้อมูลเชิงประจักษ์ การเก็บรวบรวมข้อมูลสุ่มกลุ่มตัวอย่าง จำนวนทั้งหมด 548 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม ความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหามีค่า 0.60-1.00 และค่าความเที่ยงตรงมีค่า 0.76-0.88 การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติบรรยาย ซึ่งได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และการวิเคราะห์ความสอดคล้องระหว่างโมเดลกับข้อมูลเชิงประจักษ์ด้วยโปรแกรม Adanco 2.01 ผลการวิจัยที่สำคัญสรุปได้ดังนี้: 1. ผลการวิเคราะห์ระดับความจงรักภักดีที่มีต่อโรงเรียนของครู พบว่าครูที่เป็นกลุ่มตัวอย่างมีความจงรักภักดีที่มีต่อโรงเรียนอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ด้านจิตใจมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านพฤติกรรม ด้านความคงอยู่ และด้านบรรทัดฐาน 2. ผลวิเคราะห์ขนาดอิทธิพลของตัวแปรในโมเดลสมการเชิงโครงสร้างความจงรักภักดีที่มีต่อโรงเรียนของครู พบว่า ตัวแปรสังเกตได้ทุกตัวมีค่าความเที่ยงอยู่ระหว่าง 0.618 - 0.938 และเมื่อพิจารณาค่าสัมประสิทธิ์การพยากรณ์ (R2) ของโมเดล พบว่าความยึดมั่นผูกพันที่มีต่อโรงเรียนเท่ากับ 0.346 และความจงรักภักดีที่มีต่อโรงเรียนมีค่าเท่ากับ 0.517  อิทธิพลทางตรงและทางอ้อมส่งผลถึงความจงรักภักดีที่มีต่อโรงเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ3. ผลการวิเคราะห์โมเดลสมการเชิงโครงสร้างความจงรักภักดี พบว่า โมเดลวิจัยมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ทั้งนี้น้ำหนักของตัวแปรสังเกตได้ มีค่าสัมประสิทธิ์มาตรฐานของตัวแปรสังเกตได้มีค่าอยู่ระหว่าง 0.593 - 0.945

เผยแพร่
04-06-2023
ประเภท
บทความวิจัย