ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเป็นองค์กรนวัตกรรม บริบท การประปานครหลวง

  • พิชชาภา ตันเทียว วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • อรพรรณ คงมาลัย วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คำสำคัญ: องค์กรนวัตกรรม, กระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรม, นวัตกรรมขององค์กร, ประสิทธิภาพขององค์กร

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรม และระดับความสัมพันธ์แต่ละปัจจัยที่ส่งผลต่อการเป็นองค์กรนวัตกรรมของการประปานครหลวง งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ โดยทำการศึกษารวบรวมปัจจัยที่เกี่ยวข้องจากการทบทวนวรรณกรรม และทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง จากนั้นนำปัจจัยที่ได้รับจากการสัมภาษณ์กับผู้เชี่ยวชาญมาทำแบบสอบถาม โดยทำการทดสอบความถูกต้องของเนื้อหา
ได้ดัชนีความสอดคล้อง (IOC) ของข้อคำถามทุกข้ออยู่ระหว่าง 0.500–1.000 และทดสอบความน่าเชื่อถือของแบบสอบถาม ได้ค่าสัมประสิทธิ์ Cronbach’s Alpha เท่ากับ 0.982 และได้เก็บแบบสอบถามทางออนไลน์ และออฟไลน์ โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นพนักงานของการประปานครหลวง ด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ (Stratified Sampling) โดยแบ่งประชากรออกเป็นสายงาน และสุ่มจำนวนตัวอย่างตามสัดส่วนของขนาดกลุ่มประชากร ได้รับแบบสอบถามที่มีความสมบูรณ์กลับมาจำนวน 376 ชุด และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ทั้งเชิงพรรณนา และเชิงอนุมาน เพื่อใช้ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร ผลการวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองสมการโครงสร้าง (SEM) ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยด้านกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovation Process) ส่งผลทางตรงต่อประสิทธิภาพขององค์กร (Organizational Performance) ร้อยละ 62.60 (R2=0.626) และส่งผลทางตรงต่อนวัตกรรมขององค์กร (Organizational Innovativeness) ร้อยละ 53.40 (R2=0.534) นอกจากนี้ ปัจจัยด้านคุณลักษณะขององค์กร (Organizational Characteristics) ส่งผลทางอ้อมต่อประสิทธิภาพขององค์กรและนวัตกรรมขององค์กรผ่านกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovation Process) ร้อยละ 73.80 (R2=0.738) และผู้วิจัยได้นำผลการศึกษาทำการอภิปรายร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นสอดคล้องกับผลการวิจัย และได้นำเสนอแนวทางที่จะใช้ส่งเสริมและพัฒนากระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมในองค์กร โดยการใช้ข้อมูลจากการวิจัยมาประกอบ
เพื่อพัฒนาองค์กรสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมต่อไป

เผยแพร่
04-06-2023
ประเภท
บทความวิจัย